ตราสัญลักษณ์ AOP, IGP และเครื่องหมายเกษตรอินทรีย์: คุณภาพที่เหนือกว่าจริงหรือ?
ตราสัญลักษณ์เป็นวิธีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ออกโดยหน่วยงานซึ่งรับรองว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและ/หรือคุณสมบัติต่างๆ
แต่สิ่งที่สามารถรับประกันเป็นรูปธรรมได้ คืออะไร ?
คำตอบคือแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์และความรู้ดั้งเดิมในการผลิต สองสิ่งนี้เป็นมาตรฐานที่สามารถรับประกันได้
โดยทั่วไปแล้ว ในยุโรปจะใช้ฉลากและตราสัญลักษณ์สามรายการ
-
PDO : Protected Designation of Origin (ภาษาฝรั่งเศส คือ AOP)
-
PGI : Protected Geographical Indication (ภาษาฝรั่งเศส คือ IGP)
-
เกษตรอินทรีย์ (กำหนดขึ้นตามกฎระเบียบด้านเกษตรอินทรีย์ของยุโรป EU 2018/848)
ตราสัญลักษณ์ทั้งสามนี้เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพในภาคเกษตรกรรม และใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป
ถึงแม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ตราสัญลักษณ์แต่ละอันก็มีเป้าหมายร่วมกัน คือ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรู้จักข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาบริโภคได้
PDO : Protected Designation of Origin
ตราสัญลักษณ์ PDO หรือ AOP มีจุดประสงค์เพื่อระบุแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตร คือ เป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้รับการแปรรูปและผลิตในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง
ตราสัญลักษณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างผลิตภัณฑ์กับพื้นที่ในการผลิต ความรู้ความสามารถในการผลิตก็ได้รับการรับรองด้วยเช่นกัน เพราะตราสัญลักษณ์นี้เป็นการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถ ทั้งจับต้องได้และไม่ได้ จากผู้ประกอบการต่างๆ โดยมีกรอบข้อกำหนดที่เข้มงวด
ตัวอย่างของสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ คือ แฮมจากหมูคินโตอา (Kintoa)
แล้วข้อดีสำหรับผู้บริโภคคืออะไร?
ด้วยตราสัญลักษณ์นี้ ผู้บริโภคจะมั่นใจได้ถึงการรับประกันความถูกต้องและลักษณะเฉพาะของแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับภูมิภาคเฉพาะ
ในยุโรป ผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 904 รายการ ได้รับตราสัญลักษณ์ AOP
Protected Geographical Indication (PGI)
ตราสัญลักษณ์ PGI หรือ IGP เป็นเครื่องหมายที่กำหนดผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ข้อกำหนดของตราสัญลักษณ์นี้คือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต้องถูกผลิต ปรุงแต่งหรือแปรรูปในสถานที่ที่กำหนดโดยฉลาก โดยที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีกระบวนการผลิต หรือมีกระบวนการแปรรูปแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ดำเนินการภายในสถานที่นั้นๆ ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการได้รับตรา IGP ได้ สถานที่ที่ได้กำหนดไว้ถือเป็นภูมิภาคเดียวที่มีสิทธิ์ผลิตผลิตภัณฑ์ที่คู่ควรกับฉลาก
การผลิตสินค้าอาจถูกลอกเลียนแบบและผลิตในภูมิภาคอื่นได้ แต่สินค้าที่ผลิตอออกมาจะไม่ได้รับมาตรฐานเดียวกัน เพราะตราสัญลักษณ์นี้ คือการรับประกันเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และความรู้ความสามารถของภูมิภาค
ตัวอย่างของสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ คือ แฮมบายอนน์ (Bayonne) อันเนื่องมาจากแหล่งกำเนิด ประวัติศาสตร์ และประเพณีที่เชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิด
แล้วข้อดีสำหรับผู้บริโภคคืออะไร?
ผู้บริโภคจะได้รับความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อนั้นมีแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ที่ระบุเฉพาะเจาะจง และมีคุณสมบัติ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะที่เชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิด
ในยุโรป ผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 670 รายการ ได้รับตราสัญลักษณ์ IGP
เกษตรอินทรีย์
ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "ออร์แกนิก" คือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยสังเคราะห์หรือยาฆ่าแมลง (หรือผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆ หรือ GMOs เกษตรอินทรีย์จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตทางการเกษตรที่คำนึงถึงความสมดุลของธรรมชาติ
ตราสัญลักษณ์ออร์แกนิกมีการรับประกันคุณภาพมากมาย ในหลากหลายด้าน :
-
การใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ
-
การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
-
การรักษาสมดุลของระบบนิเวศในระดับภูมิภาค
-
การช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
-
การรักษาคุณภาพน้ำ
นอกจากนี้ กฎที่บังคับใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ยังช่วยส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูง และกำหนดแนวทางให้เกษตรกรปฏิบัติต่อสัตว์ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
แล้วข้อดีสำหรับผู้บริโภคคืออะไร?
นอกเหนือจากการลดมลพิษ การอนุรักษ์ดินและน้ำใต้ดิน การทำเกษตรอินทรีย์ยังรับประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและร่างกายอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป ฉลากเกษตรอินทรีย์นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมแก่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคปลายทางด้วย
มีการตรวจสอบฉลากและตราสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นประจำหรือไม่ ?
ในยุโรป การได้รับฉลากและตราสัญลักษณ์มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นข้อพิสูจน์ด้านคุณภาพสำหรับผู้บริโภค
นอกเหนือจากการควบคุมคุณภาพเฉพาะสำหรับภาคส่วนต่างๆ (เช่น กลุ่มฟาร์มสุกร) ที่กำหนดขึ้นในระดับประเทศหรือภายในองค์กร (ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับแต่ละบริษัท) ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการออกฉลากและตราสัญลักษณ์ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งหมด 3 ขั้นตอน เพื่อรับประกันคุณภาพแก่ผู้บริโภค
-
การตรวจสอบด้วยตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ในระหว่างห่วงโซ่การผลิต
-
การตรวจสอบภายใน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
-
และการตรวจสอบภายนอก โดยหน่วยงานรับรองที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ
การตรวจสอบย้อนมีขั้นตอนอย่างไร ?
การตรวจสอบย้อนกลับของอาหารเป็นหนึ่งในเสาหลักของความปลอดภัยของอาหาร โดยทำให้เราสามารถติดตามเส้นทางของอาหารได้ตลอดห่วงโซ่การผลิตและการกระจายสินค้า วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบคือการตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์ และยังทำให้เราสามารถจัดการถอดถอนผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพออกจากห่วงโซ่การผลิตได้อีกด้วย
การตรวจสอบย้อนกลับของอาหารที่เกี่ยวข้องกับฉลากและตราสัญลักษณ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐานตลอดจนการควบคุมในระดับชาติและระดับยุโรป
สหภาพยุโรปดำเนินการตรวจสอบอาหารอย่างต่อเนื่อง (และในห่วงโซ่การผลิตและการกระจายสินค้าทั้งหมด) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่บังคับใช้
มาตรฐานการออกฉลากมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับคุณภาพ และการตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร กฎเหล่านี้มีผลบังคับใช้ในทุกประเทศในสหภาพยุโรป การระบุแหล่งกำเนิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอาหารหลายชนิด (เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก เนื้อแกะ แพะ ฯลฯ)